กลับหน้าหลักครับ

ทักทายและตอบปัญหาด้านลูกเสือ

 

 

 

 

 

 

 

 

“ท้าวหิรัญพนาสูร” เทพผู้อารักขารัชกาลที่ 6

 

 

 

 

 

               เป็นเรื่องที่เล่าต่อ ๆ กันมาในเรื่องของ "ท้าวหิรัญพนาสูร" เทพผู้อารักขารัชกาลที่ 6 เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสมัย ร.ศ.126 เมื่อครั้งที่ยังไม่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ขณะที่เสด็จประพาสเมืองลพบุรีในคืนวันเสด็จประพาสคืนหนึ่ง มีผู้ตามเสด็จท่านหนึ่งได้มีนิมิตในฝันประหลาด เห็นอสูรชาวป่า(เป็นชายร่างล่ำสันใหญ่โต) บอกว่าชื่อ "หิรัญ" มาบอกว่า ต่อแต่นี้เขาจะคอยตามเสด็จล้นเกล้าฯ ไม่ว่าจะประทับอยู่ที่ใด เขาจะคอยดูแลและระวังภัยไม่ให้เกิดขึ้นกับพระองค์ท่านได้ เมื่อทรงทราบเหตุการณ์ในฝันของผู้ตามเสด็จจึงทรงมีพระราชดำรัสให้ จัดเตรียมอาหารเซ่นสังเวย จุดเทียน "อสูรชาวป่า" ตนนี้ในป่าเมืองลพบุรีนั้นทันทีและทุกครั้งไม่ว่าจะเสด็จประพาสไปแห่งหนตำบลใด พระองค์จะมีพระราชดำรัสให้จัดอาหารเซ่นสังเวย "ท้าวหิรัญฮู" ทุกครั้งไป

              ย้อนหลังไปเมื่อครั้ง ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร” ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปประพาส ณ มณฑลพายัพโดยขบวนรถไฟหลวงไปถึงนครสวรรค์ ก็เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนเรือพระที่นั่งไปขึ้นฝั่งอุตรดิตถ์ และเสด็จพระราชดำเนินโดยทรงม้าต่อไป โดยจะต้องเสด็จฯผ่านป่ารกชัฏ และมืดครึ้มของดงดิบตลอดจนเรื่องที่น่ากลัวโดยเฉพาะไข้ป่าที่ขึ้นชื่อลือชาว่าน่าสยองเป็นที่สุดสำหรับคนสมัยนั้น แม้กระทั่งเรื่องของเจ้าป่าเจ้าเขาและผีป่า ที่เป็นที่น่าหวาดกลัวของผู้ตามเสด็จทุกคน (เรื่องที่ฝังรากหยั่งลึกอยู่ในจิตใจของคนไทยมาช้านานจนถึงปัจจุบัน) ด้วยการที่คนในสมัยนั้นยังไม่รู้จักการระมัดระวังในเรื่องไข้ป่าและการรักษาโรคก็ไม่ได้มีวิวัฒนาการในการรักษาเหมือนปัจจุบันจึงได้มีผู้ล้มป่วยเป็นไข้ป่าอยู่เป็นอันมาก

                เมื่อพลบค่ำ ของวันหนึ่งที่เสด็จพระราชได้ทรงสุบินนิมิตเห็นบุรุษชาติผู้หนึ่ง กอปรด้วยรูปร่างที่ใหญ่โตแลกล้ามเนื้ออันล่ำสันบึกบึน มีผิวกายคล้ำ มิได้สวมเสื้อ นุ่งเพียงผ้าเตี่ยวมีลายเชิงสีแดงคาดรัดเอวอย่างงดงาม  บนศีรษะครอบไว้ด้วยชฎาทรงเทริด ย่างกายเข้ามาด้วยความอ่อนน้อมแต่ทว่าองอาจผ่าเผย  มาหยุดยืนอยู่เบื้องปลายแท่นพระบรรทมแล้ว ก็ยกมือขึ้นประนม แล้วกราบบังคมทูลขึ้นว่า “ข้าพระพุทธเจ้าชื่อ “ฮู” เป็นอสูรชาวป่า มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระองค์ ขอถวายตัวเพื่อเป็นข้าบริพารคอยติดตามเสด็จรับใช้ เพื่อพิทักษ์เบื้องพระยุคลบาท มิให้ภยันตรายมากร้ำกรายพระองค์”ไปด้วยทุกแห่งหน   พระองค์จึงทรงมีพระราชดำรัสถามว่า “แล้วจะให้ข้าพเจ้าปฏิบัติอย่างไร” อสูรตนนั้นได้กราบบังคมทูลว่า “ไม่อะไรมาก ขอพระองค์โปรดพระราชทานที่เฉพาะให้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่ และแบ่งพระกระยาหารจากเครื่องเสวยของพระองค์ให้ข้าพระพุทธเจ้า ก็เพียงพอแล้ว” เมื่อจบ การสนทนา อสูรชาวป่าก็ถวายบังคมลาอันตรธานไปในที่สุด

     หลังจากนั้นไม่นาน บรรดาข้าราชบริพารที่เป็นไข้ป่าทั้งหลายทั้งปวงก็พากันหายจากอาการ เจ็บป่วยโดยสิ้นเชิงสมจริงดังคำอ้างของอสูรตนนั้นและบรรดาข้าราชบริพารที่ตามเสด็จไปด้วย ก็มักจะพบเห็นชายรูปร่างใหญ่โตน่าเกรงขามคนหนึ่งมักนั่งหรือยืนอยู่ ใกล้ ๆที่ประทับของพระองค์เป็นประจำ ความข้อนี้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณทรงเวลาเสวยก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้แบ่งพระกระยาหารจาก “เครื่องต้น” ไปเซ่นสรวงเสมอหรือไม่ก็ให้จัดเครื่องโภชนาการเลิศรสไปเซ่นสังเวยที่ริมป่าละเมาะใกล้บริเวณพลับพลาที่ประทับนั้น และได้ถือเป็นพระราชกรณียกิจจนกระทั่งสิ้นสมัยรัชกาลของพระองค์

ครูศราวุธ  เขื่อนคำ  วุฒิทางลูกเสือ :  L.T.  ตำแหน่งทางลูกเสือ : รองผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

ครู ชำนาญการพิเศษ(ลูกเสือ)โรงเรียนเวียงเจดีย์วิทยา  ลำพูน  : นายกสมาคมผู้บังคับบัญชาลูกเสือลำพูน  
ที่อยู่ สมาคมผู้บังคับบัญชาลูกเสือลำพูน    เลขที่ 450 / 3 หมู่ที่4    ถนนพหลโยธิน(อาคารสำนักงานส่งเสริมวินัยนักเรียน)  
ตำบลลี้    อำเภอลี้    จังหวัดลำพูน 51110 Tel : 08-1026-9760  ,  หรือ krutujao_scout@hotmail.com

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ :