ประวัติครูบาเจ้าหลวงปู่ครูบาวงค์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

 

 

ชาติภูมิ
         
นามเดิม วงศ์หรือชัยวงศ์  นามสกุล ต๊ะแหนม  เกิดที่ ตำบลหันก้อ อำเภอลี้  จังหวัดลำพูน  เกิดเมื่อ วันอังคาร เดือน ๗ ( เหนือ ) แรม ๒ ค่ำ  ปีฉลู  ตรงกับวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๕๖  เวลา ๒๔.๑๕ นาฬิกา  มีพี่น้องรวม ๙ คน  ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓
ชิวิตในวัยเด็ก
         
ท่านเกิดในตระกูลชาวไร่ชาวนาที่ยากจน  พ่อแม่ของท่านมีสมบัติติดตัวมาแค่นา ๓-๔ ไร่  ควาย ๒-๓ ตัว  ทำนาได้ข้าวปีละ ๒๐-๓๐ หาบ  ไม่พอกินเพราะต้องแบ่งไว้ทำพันธุ์ส่วนหนึ่ง  อีกส่วนหนึ่งเอาไว้ใส่บาตรทำบุญบูชาพระ  ส่วนที่เหลือจึงจะเก็บไว้กินเอง  ต้องอาศัยขุยไผ่ขุยหลวกมาตำเอาเม็ดมาหุงแทนข้าว  และอาศัยของในป่า  รวมทั้งมันและกลอยเพื่อประทั้งชีวิต  บางครั้งต้องอดมื้อกินมื้อก็มี  แม่ต้องไปขอญาติพี่ๆน้องๆ  เขาก็ไม่มีจะกินเหมือนกัน  แม่ต้องกลับมามือเปล่า  พร้อมน้ำตาบนใบหน้ามาถึงเรือน  ลูกๆก็ร้องไห้เพราะหิวข้าว          แม้ว่าครอบครัวของท่านต้องดิ้นรนต่อสู้กับความอดทนอยากแต่ก็ไม่ได้ละทิ้ง เรื่องการทำบุญให้ทาน  ข้าวที่แบ่งไว้ทำบุญ  แม่จะแบ่งให้ลูกทุกคนๆละปั้น  ไปใส่บาตรบูชาพระพุทธทุกวันพระ
         
โยมพ่อเคยสอนว่า " ตอนนี้พ่อแม่อด  ลูกทุกคนก็อด  แต่ลูกๆทุกคนอย่าท้อแท้ใจ  ค่อยทำบุญไปเรื่อยๆ  บุญมีภายหน้าก็จะสบาย " และโยมพ่อเคยพูดกับท่านว่า
          "
ลูกเอ๋ยเราทุกข์ขนาดนี้เชียวหนอ  ข้าวจะกินก็ไม่มี  ต้องกินไปอย่างนี้  ค่อยอดค่อยกลั้นไป  บุญมีก็ไม่ถึงกับอดตายหรอก  ทรมานมานานแล้ว  ถึงวันนี้ก็ยังไม่ตาย  มันจะตายก็ตาย  ไม่ตายก็แล้วไป  ให้ลูกอดทนไปนะ  ภายหน้าถ้าพ่อยังไม่ตายเสียก่อนก็ดี  ตายไปแล้วก็ดี  บางทีลูกจะได้นั่งขดถวายหงายองค์ตีน ( บวช )  กินข้าวดีๆอร่อยๆ  พ่อนี่จะอยู่ทันเห็นหรือไม่ทันก็ยังไม่รู้ "
ผู้มีความขยันและอดทน
         
ในสมัยที่ท่านยังเล็กๆอายุ ๓-๔ ขวบ  ท่านมีโรคประจำตัวคือ โรคลมสันนิบาต  ลมเปี่ยวลมกัง  ต้องนั่งทุกข์อยู่เป็นวันเป็นคืน  เดินไปไกลก็ไม่ได้  วิ่งก็ไม่ได้เพราะลมเปี่ยว  ตะคริวกินขากินน่อง  เดินเร็วๆก็ไม่ได้  ต้องค่อยไปค่อยยั้ง  เวลาอยู่บ้านต้องคอยเลี้ยงน้อง  ตักน้ำติดไฟไว้คอยพ่อแม่ที่เข้าไปในป่าหาอาหาร
         
ในช่วงที่ท่านมีอายุได้ ๕-๑๐ ขวบ  ท่านต้องเป็นหลักในบรรดาพี่น้องทั้งหมดที่ต้องช่วยงานพ่อแม่มากที่สุด  เวลาพ่อแม่ไปไร่ไปนาก็ไปด้วย  เวลาพ่อแม่ไปหากลอยขุดมัน  หาลูกไม้ในป่า  ท่านก็ไปช่วยขุดช่วยหาบกลับบ้าน  บางครั้งพ่อแม่หลงทางเพราะไปหากลอยตามดอยตามเนินเขา  กว่าจะหากลอยได้เต็มหาบก็ดึก  ขากลับพ่อแม่จำทางไม่ได้  ท่านก็ช่วยพาพ่อแม่กลับบ้านจนได้
         
ครั้นถึงหน้าฝน  พ่อแม่ออกไปทำนา  ท่านก็ติดตามไปช่วยทุกอย่าง  พ่อปั้นคันนาท่านก็ช่วยพ่อ  พ่อไถนาท่านก็คอยจูงควายให้พ่อ  เวลาแม่ปลูกข้าวก็ช่วยแม่ปลูกจนเสร็จ
         
เสร็จจากหน้าทำนา  ท่านก็จะเผาไม้ในไร่เอาขี้เถ้า  ไปขุดดินในถ้ำมาผสม  ทำดินปืนไปขาย  ได้เงินซื้อข้าวและเกลือ  บางครั้งก็ไปอยู่กับลุงน้อยเดชะรับจ้างเลี้ยงควาย  บางปีก็ได้ค่าแรงเป็นข้าว ๒-๓ หาบ  บางปีก็เพียงแต่ขอกินข้าวกับลุง  พอตุนท้องตุนไส้ไปวันๆ

พอถึงเวลาข้าวออกรวง  นกเขาจะลงกินข้าวในนา  ท่านก็จะขอพ่อแม่ไปเฝ้าข้าวในนาตั้งแต่เช้ามืด  กว่าจะกลับก็ตะวันลับฟ้าไปแล้ว
ผู้มีความกตัญญู
         
หลวงพ่อมีความกตัญญูมาตั้งแต่เด็ก  ท่านช่วยพ่อแม่ทำงานต่างๆ ทุกอย่างเท่าที่ทำได้  ตั้งแต่อายุได้ประมาณ ๕ ขวบ  ท่านก็ช่วยพ่อแม่เฝ้านา  เลี้ยงน้อง  ตลอดจนช่วยงานทุกอย่างของพ่อแม่  เมื่อเวลาที่พ่อแม่หาอาหารไม่ได้  ท่านก็จะไปรับจ้างชาวบ้านแถบบ้านก้อทำความสะอาด  หรือช่วยเฝ้าไร่นา  เพื่อแลกกับข้าวปลาอาหารมาให้พ่อแม่และน้องๆกิน
         
ในบางครั้งอาหารที่ได้มาหรือที่พ่อแม่จัดหาให้ไม่เพียงพอกับคนในครอบครัว  ด้วยความที่ท่านมีนิสัยเสียสละ  และไม่ต้องการให้พ่อแม่ต้องเจียดอาหารของท่านทั้งสองซึ่งมีน้อยอยู่แล้วออก มาให้ท่านอีก  ท่านจึงได้บอกว่า " กินมาแล้ว "  เพื่อให้พ่อแม่สบายใจ  แต่พอลับตาผู้อื่น  หรือเมื่อผู้อื่นในบ้านหลับกันหมดแล้ว  ท่านก็จะหลบไปดื่มน้ำ  หรือบางครั้งจะหลบไปหาใบไม้ที่พอจะกินได้มาเคี้ยวกิน  เพื่อประทังความหิวที่เกิดขึ้น  ท่านเติบโตขึ้นมาโดยพ่อแม่เลี้ยงข้าวท่านไม่ถึง ๑๐ ถัง  แต่ท่านในสมัยเป็นเด็ก  กลับหาเลี้ยงพ่อแม่มากกว่าที่พ่อแม่หาเลี้ยงท่าน
นิสัยกล้าหาญ
         
เมื่อท่านอายุได้ประมาณ ๑๐ ขวบ  ท่านต้องออกไปเฝ้านาข้าว  เพื่อคอยไล่นกที่จะมากินข้าวในนา  ท่านต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตี ๔ ยังไม่สว่าง  นกยังไม่ตื่นออกหากิน  การที่ท่านต้องออกไปไร่นาแต่เพียงลำพังคนเดียวเป็นประจำ  ทำให้ลุงตาลซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของท่านอดสงสัยไม่ได้  จนต้องเข้ามาถามท่าน
         
ลุงตาล  " มึงนี้เป็นผีเสือหรือไร  แจ้งมากูก็เห็นมึงที่นี่  มึงไม่ได้นอนบ้านหรือ ? "
         
ด.ช.วงศ์  " เมื่อนกหนูนอนแล้ว  ข้าจึงกลับไปบ้าน  เช้ามืดไก่ขัน  หัวทียังบ่แจ้ง  นกยังบ่ลงบ่ตื่น  ข้าก็มาคนเดียว "
         
ลุงตาล  " ไม่กลัวเสือ ไม่กลัวผีป่าหรือ ? "
         
ด.ช.วงศ์  " ผีเสือมันก็รู้จักเรา  มันไม่ทำอะไรเรา  เราเทียวไปเทียวมา  มันคงรู้  และเอ็นดูเรา  บางวันตอนเช้าเราเห็นคนเดินไปข้างหน้า  เราก็เดินตามก็ไม่ทัน  จนถึงไร่มันก็หายไป  เราก็เข้าใจว่ามันไปส่งเรา  เราก็ไม่กลัว  บางเช้าก็ได้ยินเสียงเสือร้องไปก่อนหน้า "
         
ลุงตาล  " ไม่กลัวเสือหรือ ? "
         
ด.ช.วงศ์  " เราไม่กลัว  มันเป็นสัตว์  เราเป็นคน  มันไม่รังแกเรา  มันคงสงสารเราที่เป็นทุกข์ยาก  มันคงจะมาอยู่เป็นเพื่อน  เราจะไปจะมา  ก็ขอเทวดาที่รักษาป่าช่วยรักษาเรา  เราจึงไม่กลัว "
         
ลุงตาล  " มึงเก่งมาก  กูจักทำตามมึง "
         
ด.ช.วงศ์  " เราไม่ได้ทำอะไรมัน  มันก็ไม่ทำอะไรเรา  มันไม่รังแกเรา  เราคิดว่า คนที่ใจบาปไปเสาะหาเนื้อในป่า  กินกวางกินเก้งกินปลา  เสือก็ยังไม่กัดใครตายในป่าสักคน  เวลาเราจะลงเรือน  เราก็ขอให้บุญช่วยเรา "
         
ลุงตาล  " มึงยังเด็ก  อายุไม่ถึง ๑๐ ขวบ  มืดๆ ดึกๆก็ไม่กลัวป่า  ไม่กลัวเถื่อน  ไม่กลัวผีป่าผีพง  ไม่กลัวช้าง  กูยอมมึงแล้ว "
ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์
         
ขณะที่ท่านนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ในป่าคนเดียวตามลำพัง  ท่านได้เปรียบเทียบชีวิตท่านกับสัตว์ป่าทั้งหลายว่า " นกทั้งหลายต่างก็หากินไป  ไม่มีที่หยุด  ต่างก็เลี้ยงตัวเองไปตามประสามัน  ก็ยังทนทานไปได้  ตัวเราค่อยอดค่อนทนไปก็ดีเหมือนกัน  สัตว์ทั้งหลายก็ทุกข์ยากอย่างเรา  สัตว์ในโลกก็ทุกข์เหมือนกันทุกอย่าง  เราไม่ควรจะเหนื่อยคร้าน  ค่อยอดค่อยทนตามพ่อแม่นำพาไป "
พรหมวิหารสี่
         
หลวงพ่อมีความเมตตากรุณาและพรหมวิหารสี่มาแต่เยาว์วัยอย่างหาที่เปรียบมิ ได้  เพื่อนของหลวงพ่อตั้งแต่สมัยนั้นเล่าว่า  เมื่อสมัยที่ท่านเป็นเด็กระหว่างทางไปหาของหรืออาหารป่า  ทุกครั้งที่เห็นสัตว์ถูกกับดักของนายพราน  ท่านจะปล่อยสัตว์เหล่านั้นให้มีอิสรภาพเสมอ  แล้วจะหาสิ่งของมาทดแทนให้กับนายพราน  เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับชีวิตของมัน
         
ครั้งหนึ่งท่านเห็นตัวตุ่นถูกกับดักนายพรานติดอยู่ในโพรงไม้ไผ่  ด้วยความสงสารท่านจึงปล่อยตัวตุ่นนั้นไป  แล้วหยิบหัวมันที่หามาได้จากในป่า  ซึ่งตั้งใจไว้ว่าจะนำไปให้พ่อแม่และน้องๆกิน  ใส่เข้าไปในโพรงไม้นั้นแทน  เพื่อเป็นการชดใช้แลกเปลี่ยนกับชีวิตของตัวตุ่นนั้น
         
ต่อมามีอยู่วันหนึ่ง  ท่านไปพบปลาดุกติดเบ็ดของชาวบ้านที่นำมาปักไว้ที่ห้วย  ท่านเห็นมันดิ้นทุรนทุรายแล้วเกิดความสงสารเวทนาปลาดุกตัวนั้นมาก  จึงปลดมันออกจากเบ็ด  แล้วเอาหัวผักกาดที่ท่านทำงานแลกมาซึ่งตั้งใจไว้ว่าจะนำไปให้พ่อแม่และน้องๆ กิน  มาเกี่ยวไว้แทนเป็นการแลกเปลี่ยนชีวิตปลาดุกนั้น
         
หลวงพ่อได้เมตตาบอกถึงเหตุผลที่กระทำเช่นนั้นว่า  ในเวลานั้นท่านมีความเวทนาสงสารสัตว์เหล่านั้นจึงได้ช่วยชีวิตของมันไว้  ท่านมักจะสั่งสอนลูกศิษย์อยู่เสมอว่า " ชีวิตของใครๆก็รักทั้งนั้น  เราทุกคนควรจะเมตตาตนเอง  และเมตตาผู้อื่นอยู่เสมอ  โลกนี้จะได้มีความสุข "
         
ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ที่ไม่ชอบการผิดศีลมาตั้งแต่สมัยเด็ก  เมื่อท่านเห็นว่าคนอื่นจะผิดศีล ข้อปาณาติบาต ( การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ) ก็รู้สึกสงสารทั้งผู้ทำปาณาตีบาตและผู้ถูกปาณาติบาต  ซึ่งท่านไม่อยากเห็นพวกเขามีเวรมีกรรมกันต่อไป  แต่ในขณะเดียวกันท่านก็ไม่ต้องการให้ตัวเองต้องผิดศีลโดยไปลักขโมยของผู้ อื่น  ซึ่งในเวลานั้นท่านไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี  ท่านจึงต้องหาสิ่งของมาตอบแทนให้กับเขา  แต่ในบางครั้งก็ไม่มีสิ่งของมาแลกกับชีวิตของสัตว์เหล่านั้นเหมือนกัน  แต่ท่านก็สามารถจะช่วยมันได้โดยปล่อยมันให้เป็นอิสระ  แล้วท่านนั่งรอนายพรานจนกว่าเขาจะมาและก็ขอเอาตัวเองชดใช้แทน  ซึ่งท่านได้เล่าว่า บางคนก็ไม่ถือสาเอาความ  แต่บางคนก็ให้ไปทำงานหรือทำความสะอาด  ทดแทนกับที่ท่านไปปล่อยสัตว์ที่เขาดักไว้  แต่ไม่เคยมีใครทำร้ายทุบตีท่าน  อาจจะมีบ้างก็เพียงแต่ว่ากล่าวตักเตือน
         
ท่านได้พูดว่า " แม้ว่าบางครั้งจะต้องทำงานหนักเพื่อใช้ชีวิตของสัตว์ที่ท่านได้ปล่อยไป  แต่ท่านก็รู้สึกยินดีและปิติใจเป็นอันมากที่ได้ทำในสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ "

กินอาหารมังสวิรัติ
         
เมื่อท่านอายุได้ ๑๒ ปี  ท่านได้พบเหตุการณ์สำคัญที่ทำไม่อยากจะกินเนื้อสัตว์นั้นเลยนับแต่นั้นมา กล่าวคือ  มีครั้งหนึ่งท่านได้เห็นพญากวางใหญ่ถูกนายพรานยิง  แทนที่พญากวางตัวนั้นจะร้องเป็นเสียงสัตว์มันกลับร้องโอยๆๆๆเหมือนเสียงคน ร้อง  แล้วสิ้นใจตายในที่สุด  และเมื่อท่านไปอยู่กับครูบาชัยลังก๋าซึ่งไม่ฉันเนื้อสัตว์  ท่านจึงงดเว้นอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ตั้งแต่นั้นมา
          
อีกประการหนึ่งอาจเป็นด้วยบุญบารมีที่ท่านได้สร้างสะมาแต่อดีตชาติ  ประกอบกับได้เห็นความทุกข์ยากของสัตว์ต่างๆที่ถูกทำร้าย จึงทำให้ท่านเกิดความสลดใจอยู่เสมอ  ท่านจึงตั้งจิตอธิษฐานถึงคุณพระศรีรัตนตรัยตั้งแต่นั้นมาว่า " จะไม่ขอเบียดเบียนชีวิตผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์และจะไม่ขอกินเนื้อ สัตว์อีกต่อไป "  ท่านได้เมตตาสอนว่า " สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมรักและหวงแหนชีวิตของมันเอง  เราทุกคนไม่ควรจะเบียดเบียนมัน  มันจะได้อยู่อย่างเป็นสุข " และท่านยังพูดเสมอว่า " ท่านต้องการให้ศีลของท่านบริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อยๆ "
         
สัตว์ทุกตัวมันก็รักชีวิตของมันเหมือนกัน  เมื่อเราฆ่ามันตายเพื่อกินเนื้อมัน  จิตของมันไปที่สำนักพระยายมก็จะฟ้องร้องว่าคนนั้นฆ่ามันตาย  คนนี้กินเนื้อของมัน  ถึงแม้จะไม่ได้ฆ่า  คนกินก็เป็นจำเลยด้วยก็ย่อมต้องได้รับโทษ  แต่จะออกมาในรูปของการเจ็บไข้ได้ป่วย  และความไม่สบายต่างๆซึ่งเจ้าตัวไม่รู้สึกเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา

บรรพชาเป็นสามเณร
         
เมื่อท่านอายุย่าง ๑๓ ปี ( พ.ศ. ๒๔๖๘ ) ด้วยผลบุญที่ท่านได้บำเพ็ญมาตั้งแต่ปางก่อนในอดีตชาติ  และได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระสงฆ์ครูบาอาจารย์ในชาตินี้จึงดลบันดาลให้ท่าน มีความเบื่อหน่ายต่อชีวิตทางโลก อันเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา  ท่านจึงได้รบเร้าขอให้พ่อแม่ท่านไปบวช  เพื่อท่านจะได้บำเพ็ญธรรมะขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เมื่อบิดามารดาได้ฟังก็เกิดความปิติยินดีเป็นยิ่งนัก ไม่นานหลังจากนั้นพ่อแม่ก็ได้นำท่านไปฝากกับหลวงอาท่านได้อยู่เป็นเด็กวัด กับหลวงอาได้ไม่นาน  หลวงอาจึงนำท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์และบวชเณรกับครูบาชัยลังก๋า ( ซึ่งเป็นธุดงค์กรรมฐานรุ่นพี่ของครูบาศรีชัย ) ครูบาชัยลังก๋าได้ตั้งชื่อให้ท่านใหม่หลังจากเป็นสามเณรแล้วว่า " สามเณรชัยลังก๋า " เช่นเดียวกับชื่อของครูบาชัยลังก๋า
มีความเคารพเชื่อฟัง
         
ท่านเป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียรและเคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์ตลอดจนผู้ สูงอายุ  จึงทำให้ครูบาอาจารย์และผู้เฒ่าผู้แก่รักใคร่เอ็นดูมาก  จนเป็นเหตุทำให้เพื่อนเณรบางคนพากันอิจฉาริษยา  หาว่าท่านประจบครูบาอาจารย์  เมื่อใดที่ท่านอยู่ห่างจากครูบาอาจารย์เป็นต้องถูกรังแกเสมอ  ทำให้การอยู่ปรนนิบัติติดตามครูบาอาจารย์เป็นไปอย่างไม่มีความสุข  แต่ด้วยความเคารพกตัญญูต่อครูบาอาจารย์  และต้องการที่จะปฏิบัติธรรมกรรมฐานเพื่อมรรคผล  ท่านจึงได้ใช้ขันติและให้อภัยแก่พระเณรเหล่านั้นที่ไม่รู้สัจจธรรมในเรื่อง กฎแห่งกรรมที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ได้กล่าวไว้ว่า " ทำความดีได้ดี  ทำความชั่วผลแห่งความชั่วย่อมตอบสนองผู้นั้น "
ชายชราลึกลับ
เพื่อนพระสงฆ์ที่เคยอยู่ร่วมกันกับท่านในสมัยเป็นเณรได้เล่าว่า " หลวงพ่อวงศ์เป็นผู้มีขันติและอภัยทานสูงส่งจริงๆ "  ครั้งหนึ่งท่านเคยถูกเณรองค์อื่น  เอาน้ำรักทาไว้บนที่นอนของท่านในสมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้า และเทียนก็หาได้ยาก  ท่านจึงมองไม่เห็น  เมื่อท่านนอนลงไป  น้ำรักก็ได้กัดผิวหนังของท่านจนแสบจนคัน  ท่านจึงได้เกาจนเป็นแผลไปทั้งตัว ไม่นานแผลเหล่านั้นก็ได้เน่าเปื่อยขึ้นมาจนทำให้ท่านได้รับทุกขเวทนามาก  แต่ด้วยความที่ท่านเป็นคนดีมีธรรมะเมตตาให้อโหสิกรรมกับผู้อื่น  ท่านจึงใช้ขันติข่มความเจ็บปวดเหล่านั้นโดยไม่ปริปากหรือกล่าวโทษผู้ใด ทุกครั้งที่ครูบาอาจารย์ถาม  ท่านก็ไม่ยอมที่จะกล่าวโทษใครเลย เพียงเรียนไปว่า ขออภัยให้กับพวกคนเหล่านั้นเท่านั้นและขอยึดเอาคำของครูบาอาจารย์มาปฏิบัติ  เพื่อจะได้ไม่มีเวรกรรมกันต่อไปในอนาคต  และเพื่อความหลุดพ้นจากวัฎสงสารแห่งนี้เข้ามรรคผลดังที่ครูบาอาจารย์ได้อบรม สั่งสอนมาด้วยความยากลำบาก  เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาเป็นคนดีและเป็นพระสงฆ์เนื้อนาบุญของพุทธบริษัทต่อไป
         
ด้วยผลบุญที่ท่านได้สั่งสมมาแต่อดีตถึงปัจจุบัน  จึงดลบันดาลให้มีชายชราชาวขมุนำยามาให้ท่านกิน  ให้ท่านทาเป็นเวลา ๓ คืน  เมื่อท่านหายดีแล้ว  ชายชราผู้นั้นก็ได้กลับมาหาท่าน  และได้พูดกับท่านว่า " เป็นผลบุญของเณรน้อยที่ได้สร้างสมมาแต่อดีตถึงปัจจุบันไว้ดีมาก  และมีความกตัญญูเคารพเชื่อฟังพ่อแม่ครูบาอาจารย์ดีมาก  จึงทำให้แผลหายเร็ว  ขอให้เณรน้อยจงหมั่นทำความดีปฏิบัติธรรม  และเคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์ต่อไปอย่าได้ท้อถอย  ไม่ว่าจะมีมารมาขัดขวางอย่างไรก็ดี  ขอเณรน้อยใช้ความดีชนะความไม่ดีทั้งหลาย  ต่อไปในภายภาคหน้าสามเณรน้อยจะได้เป็นพระสงฆ์เนื้อนาบุญของพุทธบริษัทต่อไป "
 เมื่อชายชราผู้นั้นกล่าวจบแล้ว  จึงได้เดินลงจากกุฏิที่ท่านพักอยู่ สามเณรชัยลังก๋านึกได้ยังไม่ได้ถามชื่อแซ่ของชายชราผู้มีพระคุณจึงวิ่งตามลง มา  แต่เดินหาเท่าไรก็ไม่พบชายชราผู้นั้น  ท่านจึงได้สอบถามผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้น  ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่พบเห็นชายชราเช่นนี้มาก่อนเลย  นอกจากเห็นท่านนอนอยู่องค์เดียวในกุฏิ  จากคำพูดของคนเหล่านี้ทำให้ท่านประหลาดใจมาก  เพราะท่านได้พูดคุยกับชายชราผู้นั้นถึง ๓ คืน  เหตุการณ์นี้ทำให้ท่านคิดว่าชายชราผู้นั้นถ้าไม่เป็นเทพแปลงกายมา  ก็อาจจะเป็นผู้ทรงศีลที่บำเพ็ญอยู่ในป่าจนได้อภิญญา   การกลั่นแกล้งจากพระเณรที่อิจฉาริษยายังไม่สิ้นสุดแค่นั้น  บางครั้งเวลานอนก็ถูกเอาทรายกรอกปาก  ถึงเวลาฉันก็ฉันไม่ได้มาก  เพราะถูกพระเณรที่ไม่เชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษรังแก  หรือหยิบอาหารของท่านไปกิน  แต่ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มีความอดทนและยึดมั่นในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระ สัมมาสัมพุทธเจ้า  ท่านจึงอโหสิกรรมพวกเขาและใช้ขันติในการปฏิบัติธรรมรับใช้ปรนนิบัติครูบา อาจารย์ด้วยดีต่อไป
         
ครูบาชัยลังก๋ามักลูบหัวของท่านด้วยความรักเอ็นดูและสั่งสอนให้ด้วยความ เมตตาอยู่เสมอว่า " มันเป็นกรรมเก่าของเณรน้อย  ตุ๊ลุงขอให้เณรน้อยใช้ขันติและความเพียรต่อไป  เพื่อโลกุตตรธรรมอันยิ่งใหญ่ในภายหน้า  เมื่อถึงเวลานั้นแล้วทุกคนที่เคยล่วงเกินเณรน้อย เขาจะรู้กรรมที่ได้ล่วงเกินเณรน้อยมา "ไปวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
          
ในระยะที่อยู่กับครูบาชัยลังก๋าๆได้เมตตาอบรมสั่งสอนวิชาการต่างๆให้แก่ท่าน เช่น ภาษาล้านนา  ธรรมะ  การปฏิบัติกรรมฐาน  รวมทั้งธุดงควัตร  ตลอดถึงการดำรงชีวิตในป่าขณะธุดงค์  ครูบา-ชัยลังก๋ามักพาท่านไปแสวงบุญและธุดงค์ไปในที่ต่างๆเสมอ  เพื่อให้ท่านมีประสบการณ์  ทั้งยังเคยพาท่านไปนมัสการรอบพระพุทธบาทห้วยต้มหลายครั้ง ( วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม  ในสมัยก่อนนั้นชื่อว่า วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้ม ) สมัยนั้นวัดนี้เป็นวัดร้างยังเป็นเขาอยู่
          
ครั้งหนึ่งสามเณรชัยลังก๋าเห็นวิหารทรุดโทรมมาก  จึงกราบเรียนถามครูบาชัยลังก๋า " ทำไมตุ๊ลุงถึงไม่มาสร้างวัดนี้มันทรุดโทรมมาก " ครูบาชัยลังก๋าตอบด้วยความเมตตาว่า " มันไม่ใช่หน้าที่ของตุ๊ลุงแต่จะมีพระน้อยเมืองตื๋นมาสร้าง " ขณะที่ครูบาชัยลังก๋ากล่าวอยู่นั้น  ท่านก็ได้ชี้มือมาที่สามเณรน้อยชัยลังก๋าพร้อมกับกล่าวว่า " อาจจะเป็นเณรน้อยนี้กะบ่ฮู้ที่จะมาบูรณะวัดนี้ " ท่านจึงได้เรียนไปว่า " เฮายังเป็นเณรจะสร้างได้อย่างใด " ครูบาชัยลังก๋าจึงกล่าวตอบไปด้วยความเมตตาว่า " ถึงเวลาจะมาสร้าง  ก็จะมาสร้างเอง "
          
คำพูดของครูบาชัยลังก๋านี้ไปพ้องกับคำพูดของครูบาศรีวิชัยที่เคยกล่าวกับ หม่องย่นชาวพม่า  เมื่อตอนที่ท่านอายุได้ ๕ ขวบ  ในครั้งนั้นครูบาศรีวิชัยได้รับนิมนต์จากหม่องย่นให้มารับถวายศาลาที่วัดพระ พุทธบาทห้วยต้ม  หม่องย่นให้ขอนิมนต์ครูบาศรีวิชัยมาบูรณะวัดพระพุทธบาทห้วยต้มให้เจริญรุ่งเรือง  แต่ครูบาศรีวิชัยได้ตอบปฏิเสธไปว่า " ไม่ใช่หน้าที่กู  จะมีพระน้อยเมืองตื๋นมาสร้างในภายภาคหน้า "
          
ท่านอยู่กับครูบาชัยลังก๋าที่วัดพระธาตุแก่งสร้อยเป็นเวลา ๑ ปี  หลังจากนั้นครูบาชัยลังก๋าได้ออกจาริกธุดงค์ไปโปรดชาวบ้านที่จังหวัด เชียงราย  ครูบาชัยลังก๋าได้ให้ท่านอยู่เฝ้าวัดกับพระเณรองค์อื่น  ในช่วงที่ท่านอยู่วัดนี้  ท่านก็ได้พบกันครูบาศรีวิชัยเป็นครั้งแรกซึ่งท่านเคารพนับถือครูบาศรีวิชัยมาก่อนหน้านี้แล้ว
          
ในครั้งนั้นครูบาศรีวิชัยได้มาเป็นประธานใน การฉลองพระธาตุที่วัดพระธาตุแก่งสร้อย  ในโอกาสนี้ท่านจึงได้อยู่ใกล้ชิดปรนนิบัติรับใช้ครูบาศรีวิชัยเป็นเวลา ๗ วัน  การพบกันครั้งแรกนี้ ครูบาศรีวิชัยก็ได้รับท่านไว้เป็นศิษย์ตั้งแต่นั้นมา  หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ผ่านพ้นไปแล้ว ท่านก็ยังประจำอยู่ที่วัดพระธาตุแก่งสร้อยได้ไม่นาน  เพราะทนต่อการกลั่นแกล้งจากพระเณรอื่นไม่ไหว  จึงได้เดินทางกลับมาอยู่กับหลวงน้าของท่านเพื่อช่วยสร้างพระวิหารที่วัดก้อ ท่าซึ่งเป็นวัดร้างประจำหมู่บ้านก้อท่า ตำบลก้อทุ่ง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนในระหว่างอายุ ๑๕-๒๐ ปีนั้น  ท่านได้ติดตามครูบาอาจารย์หลายองค์  และได้จาริกออกธุดงค์  ปฏิบัติธรรมตามที่ต่างๆ  ตลอดจนได้ไปอบรมสั่งสอนชาวบ้านชาวเขาในที่ต่างๆด้วยเช่นกัน  ในบางครั้งก็ไปกับครูบาอาจารย์  ในบางครั้งก็ไปองค์เดียวเพียงลำพัง  เมื่อมีโอกาสท่านก็จะกลับมารับการฝึกอบรมจากครูบาอาจารย์ทุกองค์ของท่าน เสมอๆ
 
อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
          
เมื่ออายุ ๒๐ ปี  ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ  โดยมีครูบาพรหมจักร วัดพระบาทตากผ้าเป็นอุปัชฌาย์  ได้รับฉายาว่า " ชัยยะวงศา "  ในระหว่างนั้น ท่านได้อยู่ปฏิบัติและศึกษาธรรมะกับครูบาพรหมจักร  ในบางโอกาสท่านก็จะเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปในที่ต่างๆทั้งลาวและพม่า  ท่านได้อยู่กับครูบาพรหมจักรระยะหนึ่งแล้ว  จึงได้กราบลาครูบาพรหมจักรออกจาริกธุดงค์ไปแสวงหาสัจจธรรมความหลุดพ้นจาก วัฏสงสารแห่งนี้เพียงลำพังองค์เดียวต่อ  เพื่อเผยแพร่สั่งสอนธรรมะขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กับพวกชาวเขา ในที่ต่างๆเช่นเคย
สอนธรรมะแก่ชาวเขา
          
ขณะที่ท่านธุดงค์ไปในที่ต่างๆ  ท่านได้พบและอบรมสั่งสอนธรรมะของพระพุทธองค์ให้กับชาวบ้านและชาวเขาในที่ ต่างๆ  ท่านเล่าว่า ตอนที่ท่านพบชาวเขาใหม่ๆนั้น  ในสมัยนั้นชาวเขาส่วนใหญ่ยังไม่ได้นับถือพุทธศาสนา  ในขณะที่ท่านจาริกธุดงค์ไปตามหมู่บ้านของพวกชาวเขา  พวกชาวเขาเหล่านี้ก็จะรีบอุ้มลูกจูงหลานหลบเข้าบ้านเงียบหายกันหมดพร้อมกับ ตะโกนบอกต่อๆกันว่า " ผีตาวอดมาแล้วๆๆ "
          
ในบางแห่งพวกผู้ชายบางคนที่ใจกล้าหน่อยก็เข้ามาสอบถามและพูดคุยกับท่าน  บางคนเห็นหัวของท่านแล้วอดรนทนไม่ไหวที่เห็นหัวของท่านเหน่งใส  จึงเอามือลูบหัวของท่านและทักทายท่านว่า " เสี่ยว " ( แปลว่าเพื่อน ) หลวงพ่อว่าในตอนนั้น  ท่านไม่รู้สึกเคืองหรือตำหนิเขาเหล่านั้นเลย  นอกจากขบขันในความซื่อของพวกเขา  เพราะพวกเขายังไม่รู้จักพุทธศาสนา  ในสมัยนั้นพวกชาวเขายังนับถือลัทธิบูชาผี บูชาเจ้า  ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ถือธุดงค์ปฏิบัติกรรมฐานในสถานที่แห่งนั้น  เพื่อจะหาโอกาสสอนธรรมะของพระพุทธองค์ให้กับพวกชาวเขา  การสอนของท่านนั้น ท่านได้เมตตาบอกว่า  ท่านต้องทำและสอนให้พวกเขารู้อย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป  โดยไม่ทำให้พวกเขามีความรู้สึกแปลกประหลาดและขัดต่อจิตใจความเป็นอยู่ที่เขา มีอยู่สร้างทางขึ้นดอยสุเทพ
          
เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี  ท่านจึงเดินทางกลับมาหาครูบาศรีวิชัยพร้อมกับชาวกะเหรี่ยงที่เป็นศิษย์ของ ท่าน  เพื่อช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ  ในครั้งนี้ครูบาศรีวิชัยได้เมตตาให้ท่านเป็นกำลังสำคัญทำงานร่วมกับครูบาขาว ปีในการควบคุมชาวเขาช่วยสร้างทางอยู่เสมอ  โดยเฉพาะในช่วงที่ยากลำบาก เช่น การสร้างถนนในช่วงหักศอก  ก่อนที่จะถึงดอยสุเทพ
          
ในระหว่างกำลังสร้างทางช่วงนี้  ได้มีหินก้อนใหญ่มากติดอยู่ใกล้หน้าผา  จะใช้กำลังคนหรือช้างลากเช่นไรก็ไม่ทำให้หินนั้นเคลื่อนไหวได้  ชาวกะเหรี่ยงที่ทำงานอยู่นั้นจึงไปกราบเรียนให้ ครูบาศรีวิชัยทราบ  ท่านจึงให้คนไปตามหลวงพ่อซึ่งกำลังสร้างทางช่วงอื่นอยู่  เมื่อหลวงพ่อวงศ์มาถึงท่านได้ยืนพิจารณาอยู่ครู่หนึ่ง  จึงได้เดินทางไปผลักหินก้อนนั้นลงสู่หน้าผานั้นไป  เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์แปลกใจไปตามๆ กันที่เห็นท่านใช้มือผลักหินนั้นโดยไม่อาศัยเครื่องมือใดๆ  ครูบาศรีวิชัยได้ยืนยิ้มอยู่ข้างๆท่านด้วยความพอใจ
ประทับรอยเท้าเป็นอนุสรณ์
          
ขณะที่ท่านช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอย สุเทพ  ท่านได้ประทับรอยเท้าลึกลงไปในหินประมาณ ๑ ซ.ม. ข้างน้ำตกห้วยแก้ว ( ช่วงตอนกลางๆของทางขึ้นดอยสุเทพ  เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ท่านได้มาช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างทาง )

อุปสรรค
          
ท่านเป็นผู้ที่ครูบาศรีวิชัยไว้ใจมากองค์หนึ่ง  เพราะเมื่อครูบาศรีวิชัยมีปัญหาเรื่องขาดกำลังคน  ครูบาศรีวิชัยก็จะมอบหน้าที่ให้ท่านไปนำกะเหรี่ยงอยู่บนดอยต่างๆมาช่วยสร้างทาง หลวงพ่อเล่าว่า การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ  และการสร้างบารมีของครูบาศรีวิชัยนั้น ทุกข์ยากลำบาก    ท่านได้ใช้ตัวของท่านเองเป็นตัวอย่างให้เขาดู  ในการที่จะทำให้พวกเขาหันมาปฏิบัติธรรมะของพระพุทธองค์  เมื่อพวกเขาถามท่านว่า " ทำไมท่านจึงโกนผมจนหัวเหน่ง  และนุ่งห่มสีเหลืองทั้งชุดดูแล้วแปลกดี "  ท่านก็จะถือเอาเรื่องที่เขาถามมาเป็นเหตุในการเทศน์  เพื่อเผยแพร่ธรรมะให้พวกเขาได้ปฏิบัติและรับรู้กัน
          
หลวงพ่อได้เล่าว่า การสอนให้เขารู้ธรรมะนั้น  ท่านต้องสอนไปทีละขั้น  เพื่อให้เขารู้จักพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์เสียก่อน  จากนั้นท่านจึงสอนพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กับ พวกเขา  โดยเฉพาะการทำงาน  การถือศีล  และการนั่งภาวนา ให้พวกเขาได้ปฏิบัติยึดถือกัน  โดยเฉพาะเรื่องของศีล ๕  ท่านจะสอนเน้นให้พวกเขาไม่เบียดเบียนผู้อื่น  และไม่ทำร้ายผู้อื่น  เพื่อจะได้ไม่เป็นเวรกรรมกันต่อไปในภายภาคหน้า  ซึ่งการสอนของท่านทำให้พวกชาวเขาได้รับความสงบสุขภายในหมู่บ้านของเขาอย่าง ที่ไม่เคยมีมาก่อน  พวกเขาจึงยิ่งเคารพนับถือและเชื่อฟังในคำสั่งสอนของท่านมากยิ่งขึ้น
สอนกินมังสวิรัติ
          
หลวงพ่อได้เมตตาเล่าให้ฟังว่า ในสมัยนั้นพวกชาวเขาได้นำอาหารที่มีเนื้อสัตว์มาถวาย  แต่ท่านหยิบฉันเฉพาะที่เป็นผักเป็นพืชเท่านั้น  ทำให้เขาเกิดความสงสัย  ท่านจึงได้ยกเอาเรื่องในพุทธชาดกมาเทศน์ให้พวกเขาฟัง  เพื่อเป็นการเน้นให้เห็นถึงกฎแห่งกรรมและผลดีของการรักษาศีล  ท่านได้อยู่อบรมสั่งสอนให้พวกเขารับรู้ถึงธรรมะและการรักษาศีลอยู่เสมอๆ  ทำให้พวกเขาเลื่อมใสและหันกลับมานับถือพระพุทธศาสนาโดยละทิ้งประเพณีเก่าๆ ที่เคยปฏิบัติกันมา   ต่อมาพวกชาวเขาเหล่านี้ก็ได้เจริญรอยตามท่าน  โดยเลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินมังสวิรัติแทน ( ดังที่เราจะเห็นได้จากกะเหรี่ยงที่อพยพมาอยู่ที่หมู่บ้านพระพุทธบาทห้วยต้ม ในปัจจุบันนี้ ) เมื่อท่านได้สอนพวกเขาให้นับถือศาสนาพุทธแล้ว  ท่านก็จะจาริกธุดงค์แสวงหาสัจธรรมต่อไป  และถ้ามีโอกาสท่านก็จะกลับไปโปรดพวกเขาเหล่านั้นอยู่เสมอ  ด้วยเหตุนี้ชาวเขาและชาวบ้านในที่ต่างๆที่ท่านเคยไปสั่งสอนมาจึงเคารพนับถือ ท่านมากมาก  เพราะถูกกลั่นแกล้งจากบุคคลอื่นที่ไม่เข้าใจและอิจฉาริษยาอยู่เสมอ  ทุกครั้งที่ครูบาศรีวิชัยให้ท่านไปนำกะเหรี่ยงมาช่วยสร้างทาง  ระหว่างการเดินทางต้องคอยหลบเลี่ยงจากการตรวจจับของพวกตำรวจหลวงและคณะสงฆ์ ที่ไม่เข้าใจ

          
ครูบาศรีวิชัยท่านได้เล่าว่า ในเวลากลางวันต้องหลบซ่อนกันในป่าหรือเดินทางให้ห่างไกลจากเส้นทางสัญจร  เพื่อหลบให้ห่างจากผู้ขัดขวาง  ส่วนในเวลากลางคืนต้องรีบเดินทางกันอย่างฉุกละหุก  เพราะเส้นทางต่างๆมืดมากต้องอาศัยโคมไฟตามบ้านเป็นการดูทิศทาง  เพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้    ด้วยบารมีและความตั้งมั่นในการทำความดีของครูบาศรีวิชัยที่มีต่อพระพุทธศาสนาทำให้พุทธบริษัททั้งชาวบ้านและชาวเขาจากในที่ต่างๆ จำนวนมากมาช่วยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพได้สำเร็จดังความตั้งใจของครูบาศรีวิชัย  โดยใช้เวลาสร้างเพียง ๗ เดือนเท่านั้น    เมื่อครูบาศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ สำเร็จแล้ว  หลวงพ่อจึงได้ไปกราบลาครูบาศรีวิชัย กลับไปอยู่ที่เมืองตื๋น วัดจอมหมอก ตำบลแม่ตื๋น กิ่งอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
ห่มขาว
          
เมื่ออายุได้ ๒๓ ปี  ขณะที่ท่านอยู่ที่วัดจอมหมอก  เจ้าคณะตำบลได้มาจับท่านสึก  ในข้อหาที่ท่านเป็นศิษย์และเป็นกำลังสำคัญที่ปฏิบัติเชื่อฟังครูบาศรีวิชัย อย่างเคร่งครัด ( ซึ่งในขณะนั้นครูบาศรีวิชัยได้ถูกจับมาสอบสวนอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯ ) แต่ตัวท่านเองไม่ปรารถนาที่จะสึก  จะหนีไม่ได้  เมื่อทางคณะสงฆ์จะจับท่านสึก  และให้นุ่งห่มดำหรือแต่งแบบฆราวาส  ท่านไม่ยอม  เพราะท่านไม่ได้ผิดข้อปฏิบัติของสงฆ์  แต่เมื่อคณะสงฆ์ที่ไปจับท่านสึก  ไม่ให้ห่มเหลือง  ท่านจึงหาผ้าขาวมาห่มแบบสงฆ์  เลียนเยี่ยงอย่างครูบาขาวปี วัดผาหนาม ( ซึ่งเคยถูกจับสึก  ไม่ให้ห่มเหลืองในข้อหาเดียวกัน  ในคราวที่ครูบาศรีวิชัยถูกอธิกรณ์  ก่อนที่จะมีการสร้างทางขึ้นนำมาพิจารณาและปฏิบัติให้ถึงพระนิพพาน

 ธุดงค์น้ำแข็ง

บ่อยครั้งท่านได้ธุดงค์จาริกผ่านไปที่กิ่งอำเภออมก๋อยในฤดูหนาว  บริเวณภูเขาของกิ่งอำเภออมก๋อยจะมีเหมยค้างปกคลุมไปทั่ว ( เหมยค้างนี้ภาษาภาคเหนือ หมายถึง น้ำค้างที่กลายเป็นน้ำแข็ง ) ในบริเวณนี้มีต้นสนขนาดต่างๆขึ้นเต็มไปหมด  ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย  เวลาย่ำเดินไปบนพื้นน้ำแข็ง  ขาจะจมลึกลงไปในน้ำแข็งนั้น  ทำให้เกิดความหนาวเย็นเป็นอันมาก  เพราะท่านมีแต่ผ้าที่ครองอยู่เพียงชั้นเดียวเท่านั้น  โดยเฉพาะเมื่อมีลมพัดผ่านมา  ท่านต้องสั่นสะท้านทุกครั้ง ท่านได้เล่าว่า ความแห้งแล้งของอากาศและความหนาวเย็นของน้ำแข็ง  ทำให้ผิวหนังของท่านแตกปริเป็นแผลไปทั้งตัว  ต้องได้รับทุกขเวทนามาก  สมัยนั้นในภาคเหนือ  จะหากลดมาสักอันหนึ่งก็ยากมาก  การธุดงค์ของท่านก็มีแต่อัฏฐบริขารเท่านั้นที่ติดตัวไปทุกหนทุกแห่ง  ช้อนก็ทำจากกะลามะพร้าว  ถ้วยน้ำก็ทำจากกระบอกไม้ไผ่  ผ้าจีวรที่ครองอยู่ก็ต้องปะแล้วปะอีก

          ท่านได้เมตตาเล่าว่า แต่การปฏิบัติภาวนาบนภูเขาที่มีน้ำแข็งปกคลุมมากเช่นนี้  ทำให้การปฏิบัติสมถะและวิปัสนากรรมฐานนั้นกลับแจ่มชัดและรวดเร็วดียิ่งกว่า ในเวลาปกติธรรมดา  เพราะทำให้ได้เห็นเรื่องของไตรลักษณ์ได้ชัดเจนดี  และการพิจารณาขันธ์ ๕ อันเป็น ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา  ก็สามารถเห็นอย่างแจ่มชัด  ทำให้ในขณะภาวนาทำสมาธิอยู่นั้นจิตสงบดีมาก  ไม่พะวงกับสิ่งภายนอกเลย       ในบางครั้งขณะที่นั่งสมาธิอยู่นั้น  ไฟที่ก่อไว้ได้ลุกไหม้จีวรของท่านไปตั้งครึ่งค่อนตัว  ท่านยังไม่รู้สึกตัวเลย  เมื่อจิตออกจากสมาธิแล้ว  ท่านต้องรีบดับไฟที่ลุกไหม้อยู่นั้นอย่างรีบด่วน  ทำให้ต้องครองผ้าจีวรขาดนั้นไปจนกว่าจะเดินทางไปพบหมู่บ้าน  ท่านก็จะนำผ้าที่ชาวบ้านถวายให้มาต่อกับจีวรผืนเก่าที่เหลืออยู่นั้น  ในบางครั้งท่านจะนำผ้าบังสุกุลที่พบในระหว่างทาง  มาเย็บต่อจีวรที่ขาดอยู่นั้นตามแบบอย่างที่ครูบาอาจารย์ในยุคก่อนๆปฏิบัติ สืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล   หลวงพ่อเป็นพระสงฆ์ผู้ถ่อมตน  และไม่เคยโออวดเป็นนิสัย  เมื่อมีผู้สงสัยว่า ท่านคงเข้าสมาธิจนสูงถึงขึ้นจิตไม่จับกับ กาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้ว  จึงไม่รู้ว่าไฟไหม้  ตัวท่านมักตอบเลี่ยงไปด้วยใบหน้าเมตตาว่า " คงจะอากาศหนาวมากหลวงพ่อจึงไม่รู้ว่าไฟไหม้จีวร "
ครูบาศรีวิชัยมรณภาพ
         
เมื่อท่านได้ ๒๘ ปี  ขณะนั้นท่านได้จาริกธุดงค์สั่งสอนชาวป่าชาวเขาดอยต่างๆ  ท่านได้ทราบข่าวการมรณภาพของครูบาศรีวิชัย  จึงได้เดินทางลงจากเขาเพื่อไปนมัสการพระศพ  และช่วยจัดทำพิธีศพของครูบาศรีวิชัย  ร่วมกับครูบาขาวปีและคณะศิษย์ของครูบาศรีวิชัย ที่วัดบ้านปาง  เมื่อเสร็จจากพิธีบรรจุศพครูบาศรีวิชัยแล้ว  กรมทางได้นิมนต์ให้ท่านไปช่วยสร้างเส้นทางบ้านห้วยกาน - บ้านห้วยหละ  ซึ่งในตอนนั้นท่านก็ยังห่มผ้าสีขาวอยู่  เมื่อการสร้างทางได้สำเร็จลงแล้ว  ชาวบ้านห้วยหละจึงได้มานิมนต์ท่านไปจำพรรษา  และอบรมสั่งสอนพุทธบริษัทที่สำนักสงฆ์ห้วยหละ อำเภอบ้านโฮ่ง  จังหวัดลำพูน
ห่มเหลืองอีกครั้ง
         
ขณะนั้นหลวงพ่ออายุได้ ๒๘ ปี  ได้รับนิมนต์ไปอยู่ช่วยบูรณะวัดป่าพลู  และในปีนี้ท่านได้มีโอกาสห่มเหลืองเช่นพระสงฆ์ทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง  โดยมีครูบาบุญมา วัดบ้านโฮ่ง  เป็นพระอุปัชฌาย์  และได้รับฉายาใหม่ว่า " จันทวังโส "
         
ในการห่มเหลืองในครั้งนี้  คณะสงฆ์ได้ออกญัตติให้ท่านต้องจำพรรษาที่วัดป่าพลูเป็นเวลา ๕ พรรษา  เมื่อออกพรรษาในแต่ละปีท่านจะเดินทางไปธุดงค์และจาริกสั่งสอนธรรมะให้กับชาว ป่าชาวเขาในที่ต่างๆ เสมอเหมือนที่ท่านเคยปฏิบัติมาในอดีต  และบ่อยครั้งท่านจะไปช่วยครูบาขาวปีบูรณะวัดพระพุทธบาทตะเมาะ อำเภอฮอด  จังหวัดเชียงใหม่

ตรงตามคำทำนาย
         
เมื่อท่านอยู่วัดป่าพลูครบ ๕ พรรษาตามบัญญัติของสงฆ์แล้ว  ในขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๓๔ ปี  นายอำเภอลี้และคณะสงฆ์ในอำเภอลี้  ได้ให้ศรัทธาญาติโยมวัดนาเลี่ยงมานิมนต์ครูบาขาวปีหรือท่านองค์ใดองค์หนึ่ง  เพื่อไปอยู่เมตตาบูรณะวัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้ม  แต่ครูบาขาวปีไม่ยอมไป  และบอกว่า " ไม่ใช่หนึ่งที่ของกู " ครูบาศรีวิชัยเคยพูดไว้ว่า " วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้มนั้น  มันเป็นหน้าที่ของครูบาวงศ์องค์เดียว "     ด้วยเหตุนี้ ครูบาขาวปีจึงขอให้ท่านไปอยู่โปรดเมตตาสร้าง วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้ม  ซึ่งต่อมาในภายหลังจากที่ท่านได้ไปอยู่ที่วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้มแล้ว  ท่านได้เปลี่ยนชื่อให้สั้นลงเป็น " วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม "
         
ในขณะที่ท่านอยู่ที่เมืองตื๋นนั้น  ชาวบ้านและชาวเขาต่างเรียกท่านว่า " น้อย " เมื่อท่านมาอยู่ที่วัดพระบาทห้วยต้ม  ชาวบ้านทั้งหลายจึงเชื่อกันว่า ท่านคงเป็น " พระน้อยเมืองตื๋น " ตามคำโบราณที่ได้จารึกไว้ ณ วัดพระพุทธบาทห้วย ( ข้าว ) ต้ม  เหตุการณ์นี้ก็ตรงตามคำพูดของครูบาชัยลังก๋าและครูบาศรีวิชัย  ดังที่กล่าวมาข้างต้น  เมื่อท่านย้ายมาประจำที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม  ท่านก็ยังออกจาริกไปสั่งสอนธรรมะแก่ชาวบ้านและชาวเขาในที่ต่างๆอยู่เสมอๆ เหมือนที่ท่านเคยปฏิบัติมา
ผู้เฒ่าผู้รู้เหตุการณ์
         
ในระยะแรกที่หลวงพ่อมาที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม  ผู้เฒ่าคนหนึ่งในหมู่บ้านนาเลี่ยงได้พูดกับชาวบ้านในละแวกนั้นว่า " ต่อไปบริเวณเด่นยางมูล ( คือหมู่บ้านห้วยต้มในปัจจุบัน ) จะมีชาวกะเหรี่ยงอพยพติดตามครูบาวงศ์มาอยู่ที่นี่  จนเป็นหมู่บ้านใหญ่ในอนาคต  ในครั้งนี้จะใหญ่กว่าหมู่บ้านกะเหรี่ยง ๔ ยุคที่เคยอพยพมาอยู่ที่นี่ในสมัยก่อนหน้านี้ " คำพูดอันนี้ในสมัยนั้นชาวบ้านนาเลี่ยงฟังแล้วไม่ค่อยเชื่อถือกันนัก  แต่ในเวลาต่อมาไม่นาน  คำพูดอันนี้ก็เป็นความจริงทุกประการ
         
หลวงพ่อได้เล่าให้คณะศิษย์ฟังเพิ่มเติมว่า คนเฒ่าผู้นี้เป็นผู้รู้เหตุการณ์ในอนาคต  และมักจะพูดได้ถูกต้องเสมอ  มีอยู่ครั้งหนึ่งหลังจากที่ท่านได้สร้างวิหารที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้มเป็น รูปร่างขึ้นแล้ว  ผู้เฒ่าคนนี้ในสมัยก่อนเคยเห็นคำทำนายโบราณของวัดพระพุทธบาทห้วยต้มมาก่อน  ได้มาพูดกับท่านว่า " ท่านครูบาจะสร้างให้ใหญ่เท่าไหร่ก็สร้างได้  แต่จะสร้างใหญ่จริงอย่างไรก็ไม่สำเร็จ  ต่อไปจะมีคนๆหนึ่งมาช่วย  ถ้าคนนี้มาแล้วจะสำเร็จได้ "
ชาวเขาอพยพตามมา
         
เมื่อท่านอยู่ที่วัดห้วยต้มได้ไม่นาน  คำพูดของผู้เฒ่าคนนี้ก็เป็นความจริง  เพราะชาวเขาจากที่ต่างๆที่ท่านได้อบรมสั่งสอนมา  ได้อพยพย้ายถิ่นฐานติดตามมาอยู่กับท่านเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน  เพื่อมาขอพึ่งใบบุญและปฏิบัติธรรมะกับท่าน
         
ในระยะแรกๆ นั้น ท่านได้ตั้งกฎให้กับพวกกะเหรี่ยงที่มาอยู่กับท่านว่า พวกเขาจะต้องนำมีดไม้ที่เคยฆ่าสัตว์มาถวายวัด  และให้สาบานกับท่านว่า จะไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและจะกินมังสวิรัติตลอดไป  ท่านได้เมตตาให้เหตุผลว่า ท่านต้องการให้เขาเป็นคนดี  ลดการเบียดเบียน  มีศีลธรรม  หมู่บ้านห้วยต้มจะได้มีแต่ความสงบสุขทั้งทางโลกและทางธรรม  และจะได้ไม่เป็นปัญหาของประเทศชาติต่อไป  ดังที่เราจะเห็นได้จากการที่ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านห้วยต้มนี้มีความเป็น อยู่ที่เป็นระเบียบและมีความสงบสุข  ตามที่ท่านได้เมตตาอบรมสั่งสอนมา  ทั้งที่ในหมู่บ้านนี้มีกะเหรี่ยงอยู่หลายพันคน     แต่ในสมัยนี้ กฎและระเบียบที่ชาวกะเหรี่ยงที่จะย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านห้วยต้มที่จะต้องนำ มีดไม้ที่เคยฆ่าสัตว์มาสาบานกับหลวงพ่อนั้นได้ยกเลิกไปโดยปริยาย  เพราะหลวงพ่อเห็นว่า ทางราชการได้ส่งหน่วยงานต่างๆเข้ามาจัดการดูแลช่วยเหลือ  และให้การศึกษาแก่พวกเขา  คงจะช่วยพวกเขาให้มีการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น  และมีความสงบสุขเป็นระเบียบเหมือนที่ท่านเคยอบรมสั่งสอนมา
 
สมณศักดิ์
         
๔ เมษายน ๒๕๑๔  เป็นพระครูใบฎีกาชัยยะวงศาพัฒนา
         
๕ เมษายน ๒๕๓๐  เป็นพระครูพัฒนากิจจานุรักษ์
         
๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๓  เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
         
๕ ธันวาคม ๒๕๔๐  เป็นพระครูพัฒนกิจจานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท
เกียรติคุณ
         
๑๕ มีนาคม ๒๕๑๐  ได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการพัฒนาท้องถิ่นในเขตอำเภอลี้  โดยเจ้าคณะจังหวัดลำพูน
         
๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ ได้รับรางวัล " ครูบาศรีวิชัย " ในฐานะที่ท่านเป็นบุคคลที่มีผลงานการส่งเสริมพัฒนาพระพุทธศาสนา  กิจการสาธารณะ  มีความวิริยะ  เสียสละเพื่อสังคม  และเป็นแบบอย่างที่ดี  มีปฏิปทาเดินตามรอยเยี่ยง ครูบาเจ้าศรีวิชัยนักบุญนักพัฒนาแห่งล้านนาไทย
         
๓ เมษายน ๒๕๓๙  ได้รับโล่เชิดชูเกียรติคุณในฐานะ " คนดีศรีทุ่งหัวช้าง " จาก อ.ทุ่งหัวช้าง  จังหวัดลำพูน
         
๔ พฤษภาคม ๒๕๔๒  ได้รับโล่เชิดชูเกียรติในฐานะเป็น ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านศิลปินดีเด่น จังหวัดลำพูน  สาขาศิลปะ  สถาปัตยกรรม  จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
         
๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๒  ได้รับรางวัล เสมาธรรมจักร  ในฐานะ " บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา  สาขาส่งเสริมการพัฒนาชุมชน "

ประวัติการจำพรรษา
         
ลำดับการจำพรรษาเมื่อเป็นพระภิกษุ
         
พรรษาที่ ๑  พ.ศ.๒๔๗๕ ( อายุ ๒๐ ปี ) วัดห้วยแม่บางแบ่ง เขตพม่า ( อุปสมบทที่วัดป่าน้ำ เมื่อเดือน ๕ เหนือ โดยมีครูบาเจ้าพรหมจักร เป็นพระอุปัชฌาย์ )
         
พรรษาที่ ๒-๔  พ.ศ.๒๔๗๖-๗๘ ( อายุ ๒๑-๒๓ ปี ) วัดจอมหมอก ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
         
พรรษาที่ ๕  พ.ศ.๒๔๗๙ ( อายุ ๒๔ ปี ) วัดห้วยเปียง อ.แม่ระมาด  จ.ตาก
         
พรรษาที่ ๖  พ.ศ.๒๔๘๐ ( อายุ ๒๕ ปี ) วัดไม้ตะเคียน อ.แม่ระมาด  จ.ตาก
         
พรรษาที่ ๗-๘  พ.ศ.๒๔๘๑-๘๒ ( อายุ ๒๖-๒๗ ) วัดห้อยเปียง ( นุ่งขาวห่มขาว )
         
พรรษาที่ ๙  พ.ศ.๒๔๘๓ ( อายุ ๒๘ ปี ) วัดห้วยหละ ต.ป่าพลู อ.บ้านโอ่ง  จ.ลำพูน
         
พรรษาที่ ๑๐-๑๔  พ.ศ. ๒๔๘๔-๘๘ ( อายุ ๒๙-๓๓ ปี ) วัดป่าพลู ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง  จ.ลำพูน
         
พรรษาที่ ๑๕-๑๘  พ.ศ.๒๔๘๙-๙๒ ( อายุ ๓๔-๓๗ ปี ) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้  จ.ลำพูน
         
พรรษาที่ ๑๙-๒๔  พ.ศ.๒๔๙๓-๙๘ ( อายุ ๓๘-๔๓ ปี ) วัดแม่ต๋ำ ต.เสริมซ้าย อ.เสริมงาม  จ.ลำปาง
         
พรรษาที่ ๒๕-๒๗  พ.ศ.๒๔๙๙-๒๕๐๑ ( อายุ ๔๔-๔๖ ปี ) วัดน้ำอุ่น ต.แม่ตืน อ.ลี้  จ.ลำพูน
         
พรรษาที่ ๒๘  พ.ศ.๑๕๐๒ ( อายุ ๔๗ ปี ) วัดพระธาตุห้าดวง ต.ลี้ อ.ลี้  จ.ลำพูน
         
พรรษาที่ ๒๙-๖๔  พ.ศ.๒๕๐๓-ปัจจุบัน ( อายุ ๔๘-๘๔ ปี) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้  จ.ลำพูน

ข้อมูลจาก : http://www.itti-patihan.com

* หมายเหตุ : อยากให้ท่านที่ได้อ่านประวัติของท่านครูบาเจ้าได้รับทราบถึงคุณงามความดีของท่านเพื่อจะได้เอาเป็นแบบอย่างครับ

 

ครูศราวุธ  เขื่อนคำ  วุฒิทางลูกเสือ :  L.T.  ตำแหน่งทางลูกเสือ : รองผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

ครู ชำนาญการพิเศษ(ลูกเสือ)โรงเรียนเวียงเจดีย์วิทยา  ลำพูน  : นายกสมาคมผู้บังคับบัญชาลูกเสือลำพูน  
ที่อยู่ สมาคมผู้บังคับบัญชาลูกเสือลำพูนเลขที่ 450 / 3 หมู่ที่4 ถนนพหลโยธิน(อาคารสำนักงานส่งเสริมวินัยนักเรียน) ตำบลลี้   อำเภอลี้  จังหวัดลำพูน 51110
Tel : 08-1026-9760   หรือ krutujao_scout@hotmail.com

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ :