ธงชาติไทย

 

 

กิจกรรมเกี่ยวกับหลักสูตรลูกเสือสำรอง

วัตถุประสงค์(ความมุ่งหวัง)์

                เพื่อให้ลูกเสือสำรองได้มีความรู้และได้รับการทดสอบเพื่อรับเครื่องหมายดาว

                -  รู้ส่วนประกอบ  ความหมาย  และวิธีชักธงชาติไทย

                -  รู้ประวัติของธงชาติไทยโดยสังเขป

                -  สามารถร้องเพลงชาติ  เพลงสรรเสริญพระบารมี  และรู้จักปฏิบัติเมื่อมีการบรรเลงหรือร้องเพลงชาติไทย  หรือเพลงสรรเสริญพระบารมี

                -  รู้จักรักษาคุณค่าของธงชาติและธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาติไทย

                ธงชาติ  คือ  เครื่องหมายแทนชาติ  แสดงให้รู้ถึงความเป็นเชื้อชาติของชนชาติใดชาติหนึ่ง  ซึ่งรวมกันขึ้นเป็นกลุ่มก้อน  เป็นหมู่  เป็นคณะ  ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงความมีอิสรภาพ  เกียรติ  อำนาจ  และการคุ้มครองอาณาบริเวณของแต่ละชาติ  ชาติเอกราชเท่านั้นที่มีธงประจำชาติได้

ส่วนประกอบ

                ธงชาติไทยเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ขนาดกว้าง  6  ส่วน  ยาว  9  ส่วน  ด้านกว้างแบ่งเป็น  6  ส่วนเท่า ๆ  กัน  2  ส่วนตรงกลางเป็นแถบสีขาบหรือสีน้ำเงินต่อจากสีน้ำเงินออกไป  2  ข้าง ๆ  ละ  1  ส่วน  เป็นแถบสีขาว  ต่อจากแถบสีขาวเป็นสีแดง  รวมเป็น  3  สี  เรียก  “ธงไตรรงค์”

ความหมาย

                -  สีแดง  เป็นสีของเลือด  แทนชาติ  ซึ่งบรรพบุรุษของเราได้ยอมเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อฟันฝ่าข้าศึกศัตรู  รักษาแผ่นดินให้คงอยู่เป็นปึกแผ่นมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

                -  สีขาว  เป็นสีแห่งความบริสุทธิ์สะอาด  แทนศาสนา  อันเป็นที่เคารพสักการะของเรา  ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคน  คำสอนของศาสนาทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม  กระทำด้วยความบริสุทธิ์สะอาดทั้งกาย  วาจา  ใจ 

                -  สีน้ำเงิน  (หรือสีขาบ)  เป็นสีแห่งความเป็นใหญ่  สมมติแทนองค์พระมหากษัตริย์  ผู้เป็นประมุขของชาติไทย  ซึ่งเป็นที่รวมจิตใจของคนทั้งชาติ  (เป็นสีแห่งวันประสูติของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ผู้ทรงประกาศใช้  “ธงไตรรงค์”  เป็นธงชาติไทย)

วิธีชักธงชาติไทย             

                 จัดลูกเสือหมู่บริการ  2  คน  ไปเชิญธงชาติให้เดินไปยังเสาธง  หยุดยืนห่างเสาธงประมาณ  3  ก้าว  ทั้ง  2  คน  ทำวันทยหัตถ์พร้อมกัน  แล้วคนหนึ่ง  (ควรเป็นคนทางขวามือ)  ก้าวไปข้างหน้า  2  ก้าว  (ห่างจากเสาธงประมาณ  1  ก้าว)  ยืนเท้าชิดกัน  แก้เชือกที่ผูกธงออกแล้วถอยหลังกลับที่เดิม  ผู้กำกับสั่งทำความเคารพ  “แพ็ค-วันทยหัตถ์”  หมู่บริการนำร้องเพลงชาติ  2  คนช่วยกันเชิญธงขึ้น  (ผืนธงอยู่ทางขวาของผู้เชิญ)  พอธงชาติขึ้นถึงยอดเสาแล้ว  ให้คนหนึ่งนำเชือกไปผูกติดกับเสา  (มักใช้คนเดิมที่ไปแก้เชือก)  อีกคนหนึ่งยืนคอยในท่าตรง  เมื่อผูกเชือกเสร็จแล้วให้ถอยหลังมาเข้าที่เดิม  ทั้ง  2  คนทำวันทยหัตถ์พร้อมกัน  แล้วลดมือลง  กลับหลังหันวิ่งไปเข้าที่ของตนในแถว  ทำวันทยหัตถ์เหมือนลูกเสือในแถว  ซึ่งยังทำวันทยหัตถ์อยู่  ผู้กำกับสั่ง “มือลง”  ลูกเสือจึงลดมือลงพร้อมกัน

ประวัติธงชาติไทยโดยสังเขป

                ธงชาติไทยแต่โบราณมีกล่าวไว้ตามหนังสือวรรณคดีต่าง ๆ  ว่า  เป็นรูปธงสามชายปลายงอนเป็นกนก  และมักมีสีต่าง ๆ  ในสมัยกรุงศรีอยุธยา  (สมเด็จพระนเรศวรมหาราช)  ไทยเราได้ใช้ธงสีแดงล้วนเป็นสีประจำชาติ  ครั้นมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  (รัชสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  รัชกาลที่  1)  วิวัฒนาการเกี่ยวกับธงได้ก้าวเข้ามาสู่อารยธรรมแผนใหม่  คือ  เปลี่ยนรูปลักษณะ  เปลี่ยนสี  มีการประดับประดาเครื่องหมายประกอบ  ให้ดูงาม  และมีความหมายเกี่ยวกับราชสกุลวงศ์  คือ  มีรูปจักรอยู่ตรงกลางผืนผ้าสีแดง  (รูปจักรหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์)

                ต่อมาในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่  2  ได้ช้างเผือกอันมีลักษณะงามประเสริฐมาสู่พระบารมีถึง  3  เชือก ซึ่งนับเป็นพระเกียรติยศสูงยิ่ง  จึงโปรดเกล้าฯ  ให้เพิ่มรูปช้างสีขาว  งาคู่  ไว้ในกลางวงจักรบนผ้าผืนสีแดง  ส่วนเรือเดินทะเลไทยก็ยังคงใช้ธงสีแดงอยู่ตามเดิม

                เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่  4  สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศมากยิ่งขึ้น  เรือที่เข้ามาค้าขายติดต่อก็พลอยชักธงชาติของไทยไปด้วย  รัชกาลที่  4  จึงทรงให้เปลี่ยนธงเสียใหม่  โดยให้เอารูปจักร  (ซึ่งเป็นเครื่องหมายเฉพาะองค์  พระมหากษัตริย์)  ออกเสีย  จนมาถึงรัชกาลที่  5  ต่อรัชกาลที่  6  ก็ได้มีการตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใช้ในราชการ  และทำให้มีธงต่าง ๆ  เกิดขึ้นอีกมากมาย  เช่น  ธงประจำพระองค์  ธงประจำกอง  ธงประจำตำแหน่ง  ธงราชนาวี  ฯลฯ  เป็นต้น

                ในรัชกาลที่  6  (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)  พ.ศ. 2459  ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1  พระองค์ได้ทรงดำริจะนำกองทัพไทยเข้ากับฝ่ายพันธมิตรร่วมทำสงครามด้วย  จึงทรงเห็นว่าชาติไทยควรมีธงชาติตามแบบอย่างอารยประเทศประการหนึ่ง  กับมีเหตุผลพิเศษส่วนพระองค์ที่เห็นความไม่เหมาะสมสำหรับธงชาติไทยที่มีรูปช้างอยู่บนธงด้วยอีกประการหนึ่ง  พระองค์จึงทรงดัดแปลงชาติจากรูปช้างเผือกพื้นแดงมาเป็นธง  2  สี  6 ส่วน  คือ  แถบแดง  ขาว  แดง  แดง  ขาว  แดง  ใช้เป็นการทดลองอยู่ปีหนึ่ง  พอถึงปี  2460  จึงได้ทรงเปลี่ยนธงชาติใหม่โดยให้เพิ่มสีน้ำเงิน  ซึ่งเป็นสีประจำพระชนมาวารเฉพาะพระองค์ขึ้นอีกสีหนึ่ง  และให้ทำเป็นแถบใหญ่อยู่ตรงกลางอย่างที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้  และให้ชื่อว่า  “ธงไตรรงค์”  (ธงสามสี)

 

 

 

 

 

นายศราวุธ  เขื่อนคำ  วุฒิทางลูกเสือ :  L.T.  ตำแหน่งทางลูกเสือ : รองผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

ครูชำนาญการพิเศษ(ลูกเสือ) : นายกสมาคมผู้บังคับบัญชาลูกเสือลำพูน  
ที่อยู่ สมาคมผู้บังคับบัญชาลูกเสือลำพูน  เลขที่ 450 / 3 หมู่ที่4 ถนนพหลโยธิน(อาคารสำนักงานส่งเสริมวินัยนักเรียน) ตำบลลี้   อำเภอลี้  จังหวัดลำพูน 51110
Tel : 08-1026-9760  หรือ krutujao_scout@hotmail.com

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ :